วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ลูกประคบสมุนไพร

          ลูกประคบสมุนไพร คือ ผ้าที่ใช้สมุนไพรหลายอย่างมาห่อรวมกัน นำมานึ่งให้ร้อน เป็นวิธีการบำบัดรักษาของการแพทย์แผนโบราณ แล้วประคบบริเวณที่เจ็บปวด เคล็ดขัดยอก โดยอาศัยความร้อนและคุณสมบัติสมุนไพร ทำให้อาการดีขึ้น คนไทยนิยมใช้ ลูกประคบสมุนไพร รักษากันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน โดยมักใช้รักษาควบคู่กับการนวดไทย คือ หลังจากนวดเสร็จแล้วจึงประคบนาบไปตามร่างกาย ผลของความร้อนที่ได้จากการประคบ ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว และตัวยาสมุนไพรร้อน ๆ ซึมผ่านชั้นผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยทำให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ลดปวด ช่วยลดการบวมที่เกิดจาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

สรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด
1. เหง้าไพล (Zingiberaceae) บรรเทาปวดเมื่อยลดการอักเสบ
2.
ขมิ้นชัน (Turmeric) บรรเทาฟกช้ำ
เม็ดผดผื่นคัน
3.
ขมิ้นอ้อย (Zedoary) บรรเทาฟกช้ำ
เม็ดผดผื่นคัน
4.
ผิวมะกรูด (Kaffir lime, leech lime)
บรรเทาลมวิงเวียน
5.
ผิวส้ม (Orange)
บรรเทาลมวิงเวียนทำให้เกิดกลิ่นหอมละมุน
6.
ตะไคร้บ้าน (Lemon Grass, Lapine) บรรเทาปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ
7. ใบส้มป่อย (Acacia concinna) ช่วยบำรุงผิว ชำระเมือกมัน
8.
ใบมะขาม (Tamarind)
บรรเทาอาการคันตามร่างกาย บำรุงผิว ชำระไขมัน
9.
ใบขี้เหล็ก (Cassod Tree,
Thai Copper Pod) ช่วยละลายไขมัน
ใต้ผิวหนังทำให้หลับสบาย
10.
พิมเสน (Borneo camphor)
แต่งกลิ่น แก้พุพองแก้หวัด
11.
การบูร (Camphor) แต่งกลิ่น
บำรุงหัวใจ แก้พุพอง
12.
เกลือแกง (salt) ช่วยดูดความชื้นช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้อย่างสะดวก

วิธีการทำลูกประคบสมุนไพร
  เริ่มต้นโดยการนำเอาสมุนไพรแห้งมาชั่งน้ำหนัก ผสมสมุนไพรให้เข้ากัน นำส่วนทั้งหมดมาวางตรงกลางของผ้า เริ่มต้นจับมุมผ้า 2 มุม ขึ้นมาทบกัน โดยจับ ทีละมุมจนครบทั้ง 4 มุม จากนั้นจะเกิดมุมผ้าขึ้นมาอีก 4 มุม ให้รวบมุมผ้าที่ละมุม อีกครั้งหนึ่งจนครบทั้ง 4 มุม แต่งชายผ้าให้เรียบร้อย ซ้อนกันเป็นชายเดียว  จากนั้นค่อย ๆจัดแต่งลูกประคบให้เป็นรูปทรงกลมที่สวยงามเมื่อได้ลูกประคบเป็นรูปทรงกลมที่สวยงามแล้ว  ให้นำเชือกมาพับครึ่ง ร้อยเป็นห่วง ให้ชายทั้งสองเท่ากัน  จากนั้นพันทบกัน  2 รอบแล้วผูกให้แน่นด้วยเงื่อนตาย   1 รอบ  ก็จะทำให้เหลือปลายผ้าที่เท่ากันทั้งสองข้าง  จากนั้นจึงค่อย ๆ  จัดระเบียบชายผ้าในส่วนที่จะทำด้ามจับ
            การทำด้ามจับ  โดยการจับชายผ้าที่เหลือมาซ้อนกันให้เรียบร้อย เสร็จแล้วพับเข้าหากันเพื่อเก็บซ่อนชายผ้าทั้งสองด้านหลังจากที่เราจัดแต่งและซ่อนชายผ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้พับลงมาประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เพื่อทำด้ามจับใช้ปลายเชือก
เส้นเดิมมาพันทบกันอีก 2 รอบโดยการผูกแบบเงื่อนตายให้แน่น อีกครั้งหนึ่งจากนั้นให้ซ่อนปลายเชือกไว้ในซอกผ้าตรงรอยพับที่เป็นด้ามจับ  และเพื่อให้ลูกประคบมีความแข็งแรงสวยงาม คงทนต่อการใช้งาน
     ให้นำเชือกป่านผูกให้แน่นอีกครั้งโดยผูกแบบเงื่อนตาย ให้ปลายด้านหนึ่งยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เสร็จแล้วให้ยกขึ้นมาแนบกับด้ามจับใช้ปลายเชือกส่วนที่ยาวกว่าค่อยๆพันขึ้นมา  โดยใช้ปลายนิ้วไล่กดเชือกให้แน่น  การทำเช่นนี้จะทำให้เชือกเรียงกันดูสวยงามและเป็นระเบียบ  เมื่อพันจนสุดชายเชือกแล้วให้ผูกเงื่อนตายไว้กับปลายเชือกเส้นที่แนบไว้กับด้ามจับในตอนแรก  จากนั้นซ่อนปลายไว้ในซอกผ้าที่เป็นด้ามจับ  เพียงเท่านี้ก็จะได้ลูกประคบที่สวยงามพร้อมใช้งาน
      
                  วิธีใช้ลูกประคบสมุนไพร
      นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งประมาร 15-20 นาที เมื่อลูกประคบร้อนได้ที่แล้ว ก่อนนำมาใช้ประคบควรมีการทดสอบความร้อนโดยแตะที่ท้องแขนหรือหลังมือก่อน และในช่วงแรกที่ลูกประคบยังร้อนอยู่ ต้องประคบด้วยความเร็ว ไม่วางลูกประคบไว้บนผิวหนังนานๆ เพียงแตะลูกประคบแล้วยกขึ้น แต่เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงสามารถวางลูกประคบได้นานขึ้นพร้อมกับกดคลึงจนกว่าลูกประคบคลายความร้อน แล้วจึงเปลี่ยนลูกประคบไปใช้ลูกใหม่แทน (ใช้แล้วนำไปนึ่งแทน)

              ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
      
- ไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่เคยเป็นแผลมาก่อนหรือบริเวณที่มีกระดูดยื่น และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพาต ในเด็กและผู้สูงอายุ เพราะมักมีความรู้สึกในการรับรู้และตอบสนองช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่าย
      - ไม่ควรใช้การประคบสมุนไพรในกรณีที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะจะทำให้อักเสบบวมมากขึ้นและอาจมีเลือดออกมากตามมาได้
      - หลังจากประคบสมุนไพรเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปล้างตัวยาจากผิวหนัง และร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน (ร้อนเป็นเย็นทันทีทันใด) อาจทำให้เกิดเป็นไข้ได้


        ประโยชน์และสรรพคุณของลูกประคบสมุนไพร
  ประโยชน์และสรรพคุณของลูกประคบสมุนไพรมีมากมายมหาศาล อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับของการแพทย์แผนไทยหรือแม้แต่การแพทย์อายุรเวทในปัจจุบัน ว่าเป็นวิธีรักษาโรควิธีหนึ่ง และมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษา โดยเฉพาะการช่วยลดความเครียด กำจัดความอ่อนเพลีย สร้างความสดใสให้แก่อารมณ์และความรู้สึก ช่วยคลายความเนื้อ คลายเส้นเอ็น เส้นสายในผู้ป่วยให้ผ่อนคลายลง ไม่ตึงเครียดและอึดอัดเพื่อขจัดอาการของโรค คลายเส้น เอ็น กล้ามเนื้อ ให้หายจากอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย โลหิตไหลเวียนทั่วสรรพางค์กายได้สะดวกดีขึ้น บรรเทาและรักษาอาการเหน็บชา อัมพฤกษ์และอัมพาต ลดไขมัน หรือละลายไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ลดความดันโลหิตสูงให้ลดลงมาเป็นปกติ มดลูกเข้าอู่ได้เร็ววันยิ่งขึ้น ขับน้ำคาวปลาออกมาจากมดลูกให้หมดสิ้น ไม่เหลือคั่งค้างเอาไว้ร่างกายพลิกฟื้นจากความอ่อนแอ ขี้โรค ให้มีเรี่ยวแรงดีขึ้น คลายเครียด สบายเนื้อสบายตัว อารมณ์แช่มชื่น ผ่องใส จิตใจ ปลอดโปร่ง และสร้างสมดุลให้แก่สุขภาพของตนเองแม้ว่าจะไม่เจ็บป่วย หรือมีโรคภัยใด ๆ ก็ตาม

                การเก็บลูกประคบสมุนไพร
     
ลูกประคบสมุนไพรที่ใช้ครั้งหนึ่งแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน 3-5 วัน หลังจากใช้แล้วควรผึ่งลูกประคบให้แห้ง เก็บใส่ถุงหรือภาชนะปิดฝาให้แน่นแช่ตู้เย็นจะเก็บได้นานขึ้น ให้สังเกตถ้าลูกประคบมีเชื้อราปรากฏให้เห็นและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือสีเหลืองจางลง แสดงว่าตัวยาเสีย ไม่มีคุณภาพไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป เพราะจะใช้ไม่ได้ผล